องค์ประกอบพื้นฐานสำคัญของการเล่นหุ่นกระบอก




อาจจำแนกได้เป็นส่วนต่างๆ คือ ตัวหุ่นกระบอก เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ โรงหุ่นและฉาก ดนตรีและการขับร้อง วิธีการเชิดแสดง เนื้อเรื่องที่นำมาแสดง








ตัวหุ่นกระบอก

หุ่นกระบอกที่ใช้แสดงกันในปัจจุบัน สันนิษฐานว่า สร้างขึ้น โดยอาศัยกรรมวิธี การสร้างหุ่นกระบอกตามแบบหุ่น ซึ่งหม่อมราชวงศ์เถาะ ได้คิดประดิษฐ์ดัดแปลงขึ้น กล่าวคือ ตัวหุ่นกระบอกประกอบขึ้นด้วยส่วนสำคัญ ๔ ส่วน ได้แก่ ศีรษะหุ่น ลำตัว มือ เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับตัวหุ่นกระบอก ส่วนที่เลียนแบบอวัยวะของคนจริงๆ คือ ศีรษะและมือทั้ง ๒ ข้างเท่านั้น ส่วนลำตัวหุ่นเป็นกระบอกไม้ไผ่ทั้งปล้องสอดเข้าไปตรงลำคอ ศีรษะและลำตัว ถอดออกจากกันได้ เมื่อไม่ใช้แสดงแล้วก็จะถอดออกและเก็บไว้แยกกัน โดยถอดส่วนศีรษะเก็บตั้งไว้บนฐานที่ประดิษฐ์ขึ้น เพื่อตั้งศีรษะหุ่นกระบอก ลำตัวที่เป็นกระบอกไม้ไผ่ เมื่อถอดออกแล้ว จะนำแยกเก็บต่างหากจากตัวเสื้อ ที่มีลักษณะคล้ายถุง ตัวเสื้อซึ่งมีมือติดอยู่ทั้ง ๒ ข้าง พับเก็บใส่หีบ

ศีรษะของหุ่นกระบอกส่วนมากจะทำด้วยไม้เนื้อเบาทั้งแท่ง เช่น ไม้ทองหลาง ไม้โมก ไม้สักทอง ไม้ที่นำมาใช้ควรเป็นไม้เนื้อดี ไม่มีตา แท่งไม้ควรมีขนาดความกว้างประมาณ ๑๒ เซนติเมตร และความยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร เมื่อได้ไม้แล้ว ช่างก็จะนำมาแกะให้เป็นรูปศีรษะ รูปหน้าและลำคอ ส่วนของรูปหน้าและศีรษะยาวประมาณ ๑๐ - ๑๒ เซนติเมตร ส่วนของลำคอยาวประมาณ ๘ เซนติเมตร คว้านให้เป็นรูกว้างพอ ที่กระบอกไม้ไผ่รวกจะสอดเข้าไปได้โดยสะดวก เหตุที่ต้องทำลำคอให้ยาว เพราะจะใช้เป็นส่วนต่อกับกระบอกไม้ไผ่ที่เป็นส่วนลำตัวหุ่น เมื่อสวมเสื้อคลุมทับอีกชั้นหนึ่งก็จะได้รูปลำคอพอดี ขั้นต่อไปคือ ปั้นแต่งด้วยรักสมุกหรือดิน ให้เป็นจมูก ปาก คิ้ว หู ประเพณีนิยม เกี่ยวกับความเชื่อ ในการประดิษฐ์ศีรษะหุ่นกระบอกอย่างหนึ่ง คือ ต้องมีพิธีไหว้ครู เบิกเนตรหุ่น คล้ายกับการประดิษฐ์หัวโขนถือกันว่าเป็นสิ่งต้องกระทำ ฉะนั้น การเขียนดวงตาของหุ่นกระบอก จึงจะทำเป็นขั้นตอนสุดท้าย และต้องทำในพิธีด้วย

ลำตัวของหุ่นกระบอกซึ่งก็คือ กระบอกไม้ไผ่รวก ยาวประมาณ ๓๐ - ๕๐ เซนติเมตร กระบอกไม้ไผ่ที่จะทำเป็นลำตัวหรือแกนให้คนเชิดจับถือ ควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓ - ๕ เซนติเมตร อวัยวะส่วนที่เป็นมือ มักแกะด้วยไม้ มีขนาดประมาณ ๔ - ๕ เซนติเมตร ให้พอดีกับขนาดของตัวหุ่น หรือทำด้วยหนังตัดเป็นรูปมือมีนิ้ว และดัดให้อ่อนอย่างมือละคร โดยมือขวาของหุ่นตัวพระจะกำอาวุธไว้เสมอ จึงเจาะรูตรงกลางไว้ สำหรับเสียบอาวุธ ซึ่งจะเปลี่ยนไปได้ตามเนื้อเรื่อง ถ้าในบทไม่กำหนดให้ถืออะไร ก็ปล่อยไว้ให้กำมือเฉยๆ เช่นนั้น มือซ้ายเป็นรูปมือแบตั้งวงรำ ถ้าเป็นมือตัวนาง โดยมากจะตั้งวงรำทั้ง ๒ ข้าง มือทั้ง ๒ ข้างจะตอกติดกับเรียวไม้ไผ่เล็กๆ ๒ อัน ขนาดความยาวของเรียวไม้ไผ่เท่ากับปล้องไม้ไผ่ที่ทำเป็นลำตัวสำหรับจับเชิด ชาวหุ่นกระบอกเรียกเรียวไม้ไผ่ทั้งสองข้างของหุ่นกระบอกคู่นี้ว่า "ตะเกียบ"




เครื่องแต่งกายและเครื่องประดับ

เครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับของหุ่นกระบอก นับว่ามีส่วนสำคัญ ที่ทำให้ผู้ชมตื่นตาตื่นใจได้มาก เสื้อของหุ่นกระบอกประดิษฐ์ด้วยผ้าผืนเดียว ขนาดความกว้างประมาณ ๖๐ เซนติเมตร และยาวตั้งแต่ ๑.๒ - ๑.๕ เมตร นำมาพับครึ่ง เย็บเป็นถุงคลุม โดยตรงกึ่งกลางส่วนที่เป็นสันพับครึ่ง ซึ่งคลุมไหล่หุ่น จะเจาะเป็นช่องวงกลมเล็กๆ ให้มีขนาดพอเหมาะพอดีกับขนาดลำคอ ของหุ่นกระบอก สำหรับสอดลำคออันเป็นส่วนของศีรษะ ตรงมุมผ้าทั้ง ๒ ข้างที่พับ มีช่องสำหรับให้มือหุ่นโผล่ออกมา เรียวไม้ไผ่ที่ตรึงติดมือหุ่นทั้ง ๒ ข้าง และกระบอกลำตัวหุ่นซ่อนอยู่ภายในเสื้อที่คลุมไว้ สิ่งสำคัญมาก สำหรับการตกแต่งส่วนศีรษะ คือ เครื่องประดับศีรษะ เช่น มงกุฎ ชฎา รัดเกล้า หุ่นกระบอกจะสวยสะดุดตา งดงามมากน้อยเพียงใดนั้น เครื่องประดับต่างๆ ก็มีส่วนสำคัญมิใช่น้อย

นอกจากการประดิษฐ์ตัวหุ่นกระบอกแล้ว สิ่งของเครื่องใช้อื่นๆ ที่จะต้องนำออกแสดงพร้อมกันตามท้องเรื่องที่เล่น ก็ต้องประดิษฐ์ให้มีขนาดที่พอเหมาะกับตัวหุ่นกระบอก เช่น เรือสำเภา โคมไฟ สีวิกา (ที่นั่งมีคานหาม เป็นเครื่องแสดงอิสริยยศ) ตลอดจน สัตว์ที่เป็นพาหนะทั้งหลาย

โรงหุ่นกระบอก

แต่เดิมนั้น เจ้าของคณะหุ่นกระบอกมักจะมีโรงหุ่นกระบอกเป็นของตนเอง โรงหุ่นกระบอกมักสร้างด้วยไม้กระดาน ไม่นิยมใช้ไม้ไผ่ เพราะถือเป็นของชั่วคราว ไม่คงทนถาวร และไม่แข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสาและพื้นของโรงหุ่นกระบอก ซึ่งต้องรับน้ำหนักคนจำนวนมาก ถ้าไม่แข็งแรงก็อาจเป็นอันตรายได้

โรงหุ่นกระบอกปลูกเป็นลักษณะรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวประมาณ ๕ เมตร ยกพื้นขึ้นให้สูงพอเหมาะกับสายตาของผู้ชมที่จะยืนดูได้ถนัด ส่วนมากมักยกพื้นขึ้นสูงประมาณ ๑ เมตร ถึง๑.๕๐ เมตร ความสูงจากพื้นโรงถึงหลังคาด้านหน้าประมาณ ๕ เมตร ด้านหลังและด้านข้างมีฝากั้นทึบ เพื่อกันไม่ให้คนภายนอกเข้าไปได้ ส่วนด้านหน้าตั้งเสาเรียงกัน ๔ เสา ให้มีเสาคู่กันอยู่ด้านข้าง เสาที่ตั้งคู่กันนี้ห่างกัน ๑ เมตร ฉะนั้น จะมีที่ว่างตรงกลาง ๓ เมตร

ฉาก

ฉากที่ใช้ตกแต่งโรงอาจแยกออกได้เป็น ๓ ส่วน คือ

ฉากส่วนแรก

คือ ฉากที่ขึงไว้เสมอด้านหน้าโรงระหว่างเสาทั้ง ๒ ข้าง โดยขึงตลอด ตั้งแต่ชายหลังคาจนจรดพื้นโรง เบื้องล่างมักเขียนเป็นรูปป้อมปราการ มีกำแพงเมือง และสุมทุมพุ่มไม้ตกแต่ง ที่ฉากส่วนนี้มักมีผ้าต่วน หรือผ้าแพรยกดอก แขวนตลอดความสูง ทำเป็นม่านสองไขไว้ทั้งสองข้าง โดยแขวนม่านนี้ทับด้านนอกของฉากอีกทีหนึ่ง

ฉากส่วนที่ ๒

คือ ฉากที่เขียนบนจอ ซึ่งขึงโดยให้อยู่ลึกจากริมโรงเข้าไปประมาณ ๓๐ เซนติเมตร กั้นเป็นจอ เขียนรูปอย่างฉากละคร ฉากนี้เป็นฉากใหญ่ ความยาวประมาณ ๓ เมตร พอดีกับโรง ในยุคที่การละเล่นหุ่นกระบอกเฟื่องฟู นายเปียก  ประเสริฐกุล ใช้วิธีเปลี่ยนฉากตามท้องเรื่อง ฉากที่ใช้เปลี่ยนตามท้องเรื่อง มี ๓ ฉากด้วยกัน คือ ฉากปราสาทราชมนเทียร ฉากป่าเขาลำเนาไม้ และฉากท้องทะเลมหาสาคร แต่โดยทั่วไปแล้ว พื้นจอจะเขียนให้เป็นรูปอย่างไรก็ได้ แล้วแต่ความนิยมของยุคสมัย หรือเห็นงามเท่าที่นิยมกัน ในปัจจุบันมักเขียนเป็นรูปปราสาทราชวัง อย่างไรก็ตาม ฉากส่วนตรงกลางโรงนี้ จะต้องมีประตูเข้าออก ๒ ข้าง โดยมีขนาดให้พอเหมาะกับตัวหุ่นกระบอก ที่ประตูทั้ง ๒ ข้าง ติดม่านแหวกกลางไว้ เพื่อบังไม่ให้คนดูเห็นเข้าไปข้างในโรง เบื้องล่างของฉากส่วนนี้ ยกให้สูงจากพื้นโรงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เพื่อให้ผู้เชิดที่นั่งอยู่หลังฉาก ลอดมือออกไปเชิดหุ่นที่หน้าฉากได้สะดวก บริเวณส่วนที่เป็นชายของจอนี้ ทำด้วยผ้าโปร่งขาว สูงราว ๕๐ เซนติเมตร ยาวตลอดแนวฉาก เพื่อให้คนเชิดมองลอดออกไป เห็นตัวหุ่นที่ตนกำลังยื่นแขนออกไปเชิดที่หน้าฉากได้ แต่ผู้ชมจะมองไม่เห็นผู้เชิด หรือถ้าจะเห็นก็เพียงลางๆ เท่านั้น

ฉากส่วนที่ ๓

คือ แผงกระจกติดภาพต่างๆ ใช้กันสายตา ตั้งเรียงติดต่อกันประมาณ ๖ - ๗ ภาพ ที่ด้านล่างของโรงหุ่นกระบอกที่ระดับพื้นโรง สำหรับบังไม่ให้คนดูเห็นมือคนเชิด ที่ลอดใต้ฉากออกมา และบังชายด้านล่างสุดของผ้าขาวบางนั้นไว้ จากสายตาของผู้ชม แผงกระจกเหล่านี้เรียกว่า "กระจกบังมือ" มักประดับด้วย ภาพตัวละครสำคัญในวรรณคดีเอกของไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี เช่น พระราม พระลักษมณ์ ทศกัณฐ์ หนุมานตอนหาวเป็นดาวเป็นเดือน หรือรูปสัตว์ในวรรณคดี เช่น พญาครุฑ กินรี กินนร ไกรสร ราชสีห์ มิฉะนั้น ก็ใช้วิธีการวาดภาพบนแผ่นกระจก เป็นแผงติดด้านล่างของโรง หุ่นกระบอกคณะของนายเปียก  ประเสริฐกุล ใช้วิธีวาดภาพบนด้านหลังแผ่นกระจกนี้ เพื่อให้คงทนไม่ชำรุดง่าย ภาพบนแผงกระจกเหล่านี้ จะช่วยดึงดูดความสนใจให้คนเข้ามายืนชม ก่อนที่จะมีการแสดง เป็นการฆ่าเวลาระหว่างนั่งรอชมการแสดงนั่นเอง

เครื่องดนตรี ทำนองเพลง และการดำเนินเรื่อง

เครื่องดนตรีสำหรับประกอบการแสดงหุ่นกระบอกใช้ทั้งเครื่องห้า เครื่องคู่ หรือเครื่องใหญ่ แต่ในวงปี่พาทย์สำหรับการแสดงหุ่นกระบอกจะต้องมีกลองตะโพน ซออู้ กลองต๊อก กลองแต๋ว และม้าล่อ เป็นเครื่องดนตรีสำคัญประกอบด้วย

ในตอนดำเนินเรื่องอาจใช้เพลงร่ายนอก หรือร่ายในก็ได้ แต่ที่นิยมกันมาก สำหรับการแสดงหุ่นกระบอกโดยเฉพาะ จนถือว่า เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง ของการแสดงหุ่นกระบอกคือ การใช้ทำนองเพลง "สังขารา" ซึ่งเป็นทำนองเพลงโบราณ นำมาดัดแปลงแก้ไขให้เหมาะสม กับการแสดงหุ่นกระบอก โดยประกอบเข้ากับการสีซออู้เคล้าไปในการขับร้อง เป็นการดำเนินเรื่อง

ส่วนเนื้อเรื่องที่นำมาแสดงโดยมาก เป็นเนื้อหาที่คัดสรรตัดตอนมาจากวรรณคดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนิทานคำกลอน หรือบทละครนอก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เช่น พระอภัยมณี ขุนช้างขุนแผน ลักษณวงศ์ ไกรทอง
Share on Google Plus

About Unknown

This is a short description in the author block about the author. You edit it by entering text in the "Biographical Info" field in the user admin panel.