องค์ประกอบในการเชิดแสดงหุ่นกระบอกของไทย



การเล่นหุ่นกระบอกของไทยเน้นการรวมเอาศิลปวัฒนธรรมสาขาต่างๆ ของชาติ เข้าไว้ด้วยกันมากมายหลายสาขา โดยก่อนที่จะมีการแสดงหุ่นกระบอกได้นั้น ต้องมีการสร้างตัวหุ่น อันประกอบด้วยหัวและลำตัว ซึ่งต้องอาศัยช่างผู้ที่มีความชำนาญ ทางประติมากรรม และจิตรกรรม ส่วนการประดิษฐ์เครื่องแต่งกายหุ่นกระบอก ตลอดจนเครื่องประดับต่างๆ ต้องใช้ช่างประณีตศิลป์ผู้ชำนาญในทางการฝีมือเย็บปักถักร้อย มาร่วมงานด้วย

บทหรือเรื่องราวที่จะใช้แสดงก็มีความสำคัญ และจำเป็นด้วยเช่นกัน แต่โบราณมามักใช้เนื้อเรื่องจากวรรณคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วรรณคดีที่มีเนื้อเรื่องในเชิงนิทาน นิยายจักรๆ วงศ์ๆ โดยวรรณคดีเหล่านี้ เป็นวัฒนธรรมทางวรรณศิลป์ของชาติ ทั้งนี้ ศิลปะสาขาดุริยางคศิลป์ และนาฏศิลป์ ก็ถือได้ว่า มีความสัมพันธ์กับการเชิดแสดงหุ่นกระบอก อย่างมากด้วยเช่นกัน เนื่องจาก ผู้เชิดหุ่นกระบอก ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้อย่างดี ในเรื่องกระบวนท่ารำ หรือต้องมีทักษะ ในการร่ายรำตามแบบอย่างละครรำ เพราะการเชิดหุ่น จะต้องบังคับกลไกให้หุ่นแสดงท่าร่ายรำ แทนตัวละครนั่นเอง

การแสดงหุ่นกระบอกยังประกอบด้วยศิลปะชั้นสูงอีกหลายสาขา เช่น สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ เพื่อประโยชน์ในการสร้างโรงหุ่น การจัด และตกแต่งโรงหุ่นกระบอก รวมทั้งการจัดสร้างฉากต่างๆ ให้เข้ากับท้องเรื่อง ถึงแม้ว่า การแสดงหุ่นกระบอก จะประกอบด้วยศิลปะสำคัญหลายสาขา ดังกล่าวมาแล้ว แต่ศิลปะสาขาต่างๆ ต้องหล่อหลอมเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน เพื่อให้การแสดงหุ่นกระบอกงดงาม น่าสนใจและน่าติดตาม ด้วยเหตุนี้ ศิลปินผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับหุ่นกระบอกคนหนึ่ง อาจมีความชำนาญ ในศิลปะเกือบทุกสาขา โดยไม่จำเป็นที่จะต้องแยกหน้าที่ช่าง หรือศิลปิน ในแต่ละสาขาให้ทำหน้าที่เฉพาะทางก็ได้
Share on Google Plus

About Unknown

This is a short description in the author block about the author. You edit it by entering text in the "Biographical Info" field in the user admin panel.