ประเภทของหุ่นและวิธีการแสดง






ประเภทของหุ่นและวิธีการแสดง

ในภาษาอังกฤษมีคำที่หมายถึง "หุ่น" อยู่ ๒ คำ คือ พัปเพ็ต (Puppet) และ แมริโอเนตต์ (Marionette) โดยมีความหมายที่แตกต่างกัน คือ พัปเพ็ตเป็นหุ่นที่เชิด โดยใช้มือจับแกนลำตัวหุ่น แล้วเชิดจากด้านล่าง ส่วนแมริโอเนตต์เป็นหุ่นที่เชิด โดยการชักสายที่โยงจากส่วนต่างๆ ของหุ่น แล้วเชิดจากด้านบน

หุ่นที่เล่นแสดงตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก อาจจำแนกได้เป็น ๖ ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

๑. หุ่นมือ (Hand - puppet)
๒. หุ่นนิ้วมือ (Finger - puppet)
๓. หุ่นสำหรับสร้างเป็นภาพยนตร์ (Stop - motion puppet)
๔. หุ่นกระบอก (Rod - puppet)
๕. หุ่นเงา (Shadow - puppet)
๖. หุ่นชักสายเชิด (String - puppet หรือ Marionette)

หุ่นแต่ละประเภทมีความแตกต่างทั้งในรูปลักษณะ การสร้าง และวิธีเชิดแสดง




หุ่นมือ

มีตั้งแต่ขนาดเล็กๆ สำหรับให้เด็กเล่นแสดง ไปจนถึงขนาดใหญ่ที่มีความสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ใช้เชิดแสดงเป็นมหรสพสำหรับผู้เชิดระดับมืออาชีพ หุ่นมือมีลำตัวกลวง เพื่อให้ผู้เชิดสอดแขนเข้าไปได้ โดยใช้มือและนิ้วมือควบคุมบังคับการเคลื่อนไหวของตัวหุ่น ส่วนศีรษะของหุ่นมือ คือ อวัยวะหลักที่สำคัญมากของหุ่นประเภทนี้ ซึ่งวัสดุที่นำมาใช้ประดิษฐ์ มีหลายชนิด เช่น ลูกบอลยาง กระดาษแข็ง ถุงเท้ายัดนุ่น เศษผ้าหรือผ้าสักหลาด กระดาษปิดกาว เศษพลาสติก ยางหรือไม้ที่มีน้ำหนักเบา ศีรษะของหุ่นมือ ส่วนมากเคลื่อนไหวไม่ได้ แต่ในบางครั้งผู้ประดิษฐ์อาจสร้างให้ขยับขากรรไกร ดวงตา และใบหูได้ ศีรษะของหุ่นมือจะตรึงติดอยู่กับลำตัวหุ่นซึ่งมีลักษณะเป็นเสื้อคลุมหลวมๆ ตรงๆ ลงมา เพื่อให้ผู้เชิดสอดแขนเข้าไปได้ อวัยวะส่วนที่เป็นมือ มักใช้วัสดุประเภทเดียวกันกับศีรษะ แต่ให้มีขนาดไม่เหมือนธรรมชาติ สำหรับมือของหุ่น มักให้ถือสิ่งของต่างๆ ตามท้องเรื่อง

การเชิดไม่ซับซ้อนยุ่งยากเท่าหุ่นชนิดอื่น โดยทั่วไปผู้เชิดหุ่นมือใช้แขน และมือ สอดเข้าไปในถุงซึ่งเป็นลำตัวหุ่น และใช้นิ้วชี้สอดให้ตรงกับรูที่เชื่อมระหว่างลำตัวกับศีรษะหุ่น เพื่อบังคับส่วนศีรษะของหุ่น นิ้วโป้งและนิ้วกลางใช้บังคับมือและแขนทั้ง ๒ ข้างของหุ่น การเชิดแสดงหุ่นมือมีข้อจำกัดอยู่เพียงแค่ลำตัวส่วนครึ่งบนของตัวหุ่น อย่างไรก็ตาม หากผู้เชิดมีทักษะมากก็อาจให้หุ่นมือแสดงบทเดิน กระโดด เต้นรำ หรือวิ่งได้บ้างเหมือนกัน

เนื่องจากผู้ชมการแสดงหุ่นมือส่วนมากเป็นเด็ก เรื่องราว หรือเนื้อเรื่องของการแสดงหุ่นมือ ที่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้แสดงคือ เรื่องตลก จำอวด หรือเทพนิยาย บทสนทนามีเพียงสั้นๆ ซึ่งส่วนมากผู้เชิดจะพูดเอง แต่การเชิดแสดง จะเน้นที่การเคลื่อนไหวมากๆ และเทคนิคการใช้เสียงประกอบมากกว่าบทสนทนา เรื่องที่เป็นแบบแผนและแนวนิยมของการแสดงหุ่นมือ คือ เรื่องซึ่งมีบทเกินธรรมชาติ ทั้งในด้านบุคลิกลักษณะการเคลื่อนไหว และเค้าโครงเรื่อง โรงที่ใช้แสดงหุ่นมือ ต้องสร้างให้มีเนื้อที่มากพอที่ผู้เชิดจะเคลื่อนไหวได้สะดวก ส่วนมากเว้นช่องว่างจากด้านล่าง เนื่องจากผู้เชิดหุ่นมือจะเชิดหุ่นจากด้านล่างของขอบเวทีโรงหุ่น




หุ่นนิ้วมือ

เป็นหุ่นที่แตกแขนงมาจากหุ่นมือ หุ่นชนิดนี้มีขนาดเล็ก เนื่องจากเป็นการใช้นิ้วมือเชิดแสดง ผู้เชิดจะใช้นิ้วชี้และนิ้วนางเป็นส่วนขาของหุ่น ส่วนนิ้วกลางใช้เชิดลำตัวและหัว การเชิดแสดง ส่วนมากใช้การเคลื่อนไหวของขาหุ่นทั้ง ๒ ข้าง โดยเน้นการวิ่ง เดิน เต้นรำ กระโดด สำหรับส่วนบนของตัวหุ่นเคลื่อนไหวไม่ได้มากนัก เนื่องจากความจำกัดของขนาด และร่างกาย โดยทั่วไปหุ่นนิ้วมือจึงนำมาเป็นของเล่นสำหรับเด็กภายในกลุ่มเล็กๆ มากกว่าจะใช้เชิดแสดงเป็นมหรสพ




หุ่นสำหรับสร้างเป็นภาพยนตร์

มีลักษณะคล้ายตุ๊กตามากกว่าหุ่นที่ใช้สำหรับการเชิดแสดงเป็นมหรสพในโรงหุ่น ส่วนมาก ประดิษฐ์ให้มีรูปร่างเหมือนมนุษย์มากที่สุด เพื่อให้ภาพที่ปรากฏในภาพยนตร์ ดูแล้วน่าสนใจ เหมือนการแสดงของมนุษย์ ตัวหุ่นอาจดัดแปลงให้มีท่าทางการเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงกับ อากัปกิริยาของมนุษย์ การจัดวางท่าทางของหุ่นเพื่อประโยชน์สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญของการสร้างหุ่นประเภทนี้ โดยทั่วไป หุ่นที่สร้างขึ้น สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์นี้จะมีขนาดไล่เลี่ยกับตุ๊กตาทั่วๆ ไป ส่วนการจัดฉากประกอบต่างๆ ก็มีสัดส่วนที่เหมาะสมกับขนาดของหุ่นตามกันไปด้วย




หุ่นกระบอก

มีลักษณะคล้ายกับหุ่นมือ กล่าวคือ ลำตัวของหุ่นมีส่วนกลวงภายใน เพื่อให้แขนสอดเข้าไปเชิดได้ การเชิดแสดงหุ่นกระบอกก็เชิดจากด้านล่างเช่นเดียวกัน หุ่นกระบอกส่วนมากมีศีรษะและลำคอกลวง ส่วนหัวของหุ่นกระบอกอาจประดิษฐ์ขึ้น จากวัสดุต่างๆ ที่มีน้ำหนักไม่มากนัก เช่น กระดาษ ไม้ที่มีเนื้อเบา

หุ่นกระบอกเป็นมหรสพสำหรับชาวบ้าน และสามารถเชิดแสดง โดยใช้บท สำหรับการแสดงหุ่นสารพัดประเภท ไม่ว่าจะเป็นโศกนาฏกรรม ตลก เทพนิยาย หรือเรื่องจินตนาการแบบเพ้อฝัน (fantasy) แต่ที่เหมาะที่สุดคือ นำมาเล่นกับบท ซึ่งมีเรื่องราวที่เน้นการแสดงออกของตัวละคร มากกว่าการสนทนา

โรงหุ่นกระบอกมีลักษณะคล้ายโรงหุ่นมือ คือ มีที่ว่างด้านล่างของพื้นเวที เพราะใช้การเชิดแสดงจากด้านล่างเป็นส่วนมาก แต่ที่บางภูมิภาค เช่น เกาะซิซิลี มีการเชิดแสดงจากด้านบน ในกรณีเช่นนี้ โรงหุ่นกระบอกจะมีลักษณะคล้ายโรงหุ่นชักสายเชิด




หุ่นเงา

เป็นหุ่นที่คนไทยรู้จักกันดี ในชื่อ หนังตะลุง เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของหุ่นกระบอก ความแตกต่าง คือ ผู้ชมจะไม่ชมการแสดงจากการมองตัวหุ่นโดยตรง แต่จะชมภาพของหุ่น ซึ่งปรากฏที่จอ โดยใช้ไฟส่องจากด้านหลังของตัวหุ่นที่มีลักษณะแบนเป็นภาพมิติเดียวนั้น ให้เงาของตัวหุ่นไปตกกระทบจอที่ใช้ผ้าขาวผืนใหญ่ขึงตึง เกิดเป็นภาพบนจอ ผู้ชมจึงชมการเชิดแสดงหุ่นประเภทนี้ในลักษณะของการดูหนัง

ลักษณะของหุ่นประเภทนี้เป็นแผ่นภาพแบน ประดิษฐ์ขึ้นจากกระดาษแข็ง แผ่นสังกะสี ในประเทศทางตะวันออกจะประดิษฐ์จากหนังสัตว์ เช่น โค กระบือ ขนาดหุ่นเงา หรือที่เรียกว่า "ตัวหนัง" จะมีขนาดไม่เกิน ๕๐ เซนติเมตร ลักษณะของตัวหนัง อาจออกแบบให้เห็นเป็นภาพใบหน้า ที่เอียงข้างของตัวละคร หรืออาจเป็นภาพหน้าตรง ที่แสดงความรู้สึกต่างๆ ก็ได้ แต่ส่วนมากจะเป็นภาพใบหน้าด้านข้าง ตัวหนังสามารถเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ เช่น แขน ขา ได้บ้าง โดยการดึงเชือก ที่ผูกไว้ที่อวัยวะนั้นๆ

การเชิดจะเชิดตัวหนังทางด้านหลังของจอ และเชิดจากด้านล่าง ผู้เชิดต้องวางแนวจับตัวหนังด้านแบนๆ นั้นให้ขนานไปกับจอ แล้วเคลื่อนตัวจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง เป็นแนวระนาบตามกันไป ความสนุกสนานของการชมหนังตะลุงเกิดจากบทสนทนา หรือการแสดงของผู้เชิด ซึ่งช่วยสร้างสีสันให้แก่การเล่น หุ่นเงาเหมาะที่จะใช้แสดงกับเรื่องราวที่มีอยู่ในคติชาวบ้าน เช่น นิทาน นิยายพื้นบ้าน หรือเนื้อเรื่องประเภทเทพนิยาย สำหรับโรงเชิดหุ่น มีลักษณะคล้ายโรงเชิดหุ่นมือ แต่ด้านหน้าโรงขึงจอผ้าขาวให้ตึง





หุ่นชักสายเชิด

เป็นหุ่นแบบใช้เส้นเชือกชักเชิด ในภาษาอังกฤษมักเรียกว่า String-puppet แต่คำ Marionette ซึ่งมาจากภาษาฝรั่งเศส ได้รับความนิยมมากกว่า เพราะเหตุว่า หุ่นชนิดนี้ เป็นที่นิยมแพร่หลายมากในประเทศฝรั่งเศส ตามหลักฐานที่ค้นพบ มีการเชิดแสดงหุ่นชนิดนี้มานานตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ แล้ว

ช่างผู้ประดิษฐ์หุ่นชักสายเชิดจะมีวิธีการสร้างหุ่นเฉพาะตัว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนกัน แต่โดยทั่วไป ศีรษะและลำคอของหุ่นประเภทนี้สร้างจากวัสดุที่คล้ายกับวัสดุของหุ่นมือ คือ ใช้ไม้ที่มีน้ำหนักเบา หรือกระดาษปิดกาว หรือกระดาษแข็ง ส่วนวัสดุที่นำมาประดิษฐ์เป็นลำตัวของหุ่น ต้องแข็งแรงพอสมควร เช่น ไม้ กระดาษปิดกาว ผ้ายัดนุ่น

ลำตัวของหุ่นชักสายเชิดแยกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนบนตั้งแต่เอวขึ้นไป และส่วนล่างจากเอวลงมา เพื่อให้การเชิดเคลื่อนไหวได้อ่อนช้อย คล้ายคลึงกับการเคลื่อนไหวของมนุษย์มากที่สุด และที่เท้าของหุ่นมักถ่วงให้หนักด้วยตะกั่ว โดยรวมแล้ว อวัยวะแทบทุกส่วนของตัวหุ่นชักสายเชิดจะประดิษฐ์ให้เคลื่อนไหวได้ รวมทั้ง นัยน์ตาทั้ง ๒ ข้างที่กลอกไปมาได้ด้วย

การตกแต่งหุ่นจะใช้สีวาดและทาอวัยวะต่างๆ ที่เป็นร่างกาย เสื้อผ้าก็มักจะให้มีสีสันสดใส ฉูดฉาด เพื่อดึงดูดสายตา และความสนใจ เสื้อผ้าและเครื่องประดับต่างๆ ของหุ่น มีลักษณะหลวมๆ และเบา เพราะหุ่นประเภทนี้ต้องเคลื่อนไหวมาก ตัวหุ่นมีรูปร่างครบสมบูรณ์ทุกอย่าง มีเส้นเชือก ซึ่งมีความเหนียวมาก ผูกตรึงกับอวัยวะส่วนต่างๆ ของหุ่น โดยเฉพาะที่แขนและขา และโยงไปยังด้ามบังคับ ที่ทำด้วยไม้เป็นรูปกากบาท

ผู้เชิดหุ่นจะเชิดจากด้านบนของโรงหุ่น ซึ่งสร้างยกพื้นอยู่ด้านหลังของฉาก เพื่อให้ผู้เชิดแสดง สามารถยืนชะโงกออกมาเชิดตัวหุ่นที่อยู่ข้างหน้าฉากได้ถนัด หุ่นชักสายเชิดนี้ ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดในยุโรป ระหว่างช่วงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ประเทศที่นิยมนำหุ่นชนิดนี้มาเล่น เช่น ออสเตรีย อิตาลี ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซีย
Share on Google Plus

About Unknown

This is a short description in the author block about the author. You edit it by entering text in the "Biographical Info" field in the user admin panel.